เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [3. ปัญญาวรรค] 1. มหาปัญญากถา 2. ปุคคลวิเสสนิทเทส
มีการพิจารณามากก็มี 2 จำพวก และพวกที่เป็นพระอเสขะบรรลุปฏิสัมภิทาก็มี 2
จำพวก คือ พวกหนึ่งบรรลุสาวกบารมี พวกหนึ่งไม่บรรลุสาวกบารมี พวกที่
บรรลุสาวกบารมีเป็นผู้ประเสริฐวิเศษยิ่งกว่าพวกที่ไม่บรรลุสาวกบารมี และญาณ
ของผู้บรรลุสาวกบารมีนั้นย่อมแตกฉาน
บุคคลผู้บรรลุปฏิสัมภิทามี 2 จำพวก คือ พวกที่บรรลุปฏิสัมภิทา ถึงพร้อม
ด้วยความเพียรมาก่อนก็มี 2 จำพวก แม้พวกที่เป็นพหูสูตก็มี 2 จำพวก พวกที่
มากด้วยเทศนาก็มี 2 จำพวก พวกที่อาศัยครูก็มี 2 จำพวก พวกที่มีวิหารธรรม
มากก็มี 2 จำพวก พวกที่มีการพิจารณามากก็มี 2 จำพวก และพวกที่เป็น
พระอเสขะบรรลุปฏิสัมภิทาก็มี 2 จำพวก คือ พวกหนึ่งบรรลุสาวกบารมี พวกหนึ่ง
เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า พวกที่เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐวิเศษยิ่ง
กว่าพวกที่บรรลุสาวกบารมีนั้น และญาณของผู้เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
ย่อมแตกฉาน
เมื่อเทียบกับพระปัจเจกพุทธเจ้าและโลกพร้อมทั้งเทวโลก พระตถาคต-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศ ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงฉลาดในประเภท
แห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุถึงปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ
4 ทรงเป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็นบุรุษดุจราชสีห์ ฯลฯ
เหล่าบัณฑิต ผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา
ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทราย ดุจจะเที่ยว
ทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญาของตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหาเข้า
ไปหาพระตถาคตทูลถามปัญหาทั้งลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาค
ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง ขณะนั้นพระผู้มีพระภาค
ทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระปัญญา เพราะทรงแก้ปัญหาเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มี
พระภาคจึงทรงเป็นผู้เลิศ ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ดังนี้

มหาปัญญากถา จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :561 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [3. ปัญญาวรรค] 2. อิทธิกถา
2. อิทธิกถา
ว่าด้วยฤทธิ์
[9] ฤทธิ์เป็นอย่างไร ฤทธิ์มีเท่าไร ภูมิแห่งฤทธิ์มีเท่าไร บาทแห่งฤทธิ์มีเท่าไร
บทแห่งฤทธิ์มีเท่าไร มูลแห่งฤทธิ์มีเท่าไร
ถาม : ฤทธิ์เป็นอย่างไร
ตอบ : ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะมีสภาวะสำเร็จ
ถาม : ฤทธิ์มีเท่าไร
ตอบ : ฤทธิ์มี 10 อย่าง
ถาม : ภูมิแห่งฤทธิ์มีเท่าไร
ตอบ : ภูมิแห่งฤทธิ์มี 4 อย่าง ... บาทแห่งฤทธิ์มี 4 อย่าง ... บทแห่งฤทธิ์มี
8 อย่าง ... มูลแห่งฤทธิ์มี 16 อย่าง
ฤทธิ์ 10 อย่าง อะไรบ้าง คือ

1. ฤทธิ์ที่อธิษฐาน 2. ฤทธิ์ที่แสดงได้ต่าง ๆ
3. ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ 4. ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ
5. ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ 6. ฤทธิ์ของพระอริยะ
7. ฤทธิ์ที่เกิดจากผลกรรม 8. ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ
9. ฤทธิ์ที่สำเร็จมาจากวิชชา

10. ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะมีสภาวะสำเร็จด้วยการประกอบโดยชอบในส่วน
นั้น ๆ เป็นปัจจัย
ภูมิแห่งฤทธิ์ 4 อย่าง อะไรบ้าง คือ
1. ปฐมฌานเป็นภูมิเกิดจากวิเวก
2. ทุติยฌานเป็นภูมิแห่งปีติและสุข
3. ตติยฌานเป็นภูมิแห่งอุเบกขาและสุข
4. จตุตถฌานเป็นภูมิแห่งอุเบกขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :562 }